Business Legal Advisor


    Home Services Thai | English
   

การจดทะเบียนบริษัท

การประกอบธุรกิจการค้าอาจดำเนินการได้หลายรูปแบบ ทั้งโดยบุคคลคนเดียวเป็นเจ้าของกิจการโดยลำพัง หรืออาจดำเนินการโดยร่วมลงทุนกับบุคคลอื่นเป็นกลุ่มคณะก็ได้ การที่จะตัดสินใจเลือกดำเนินธุรกิจการค้าในรูปแบบใดนั้น ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบที่สำคัญหลายประการด้วยกัน เช่น ลักษณะของกิจการค้า เงินทุน ความรู้ความสามารถในการดำเนินธุรกิจ ภาระภาษี เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้การประกอบธุรกิจนั้นประสบผลสำเร็จ นำมาซึ่งผลประโยชน์และกำไรสูงสุด

รูปแบบธุรกิจที่มีอยู่ภายใต้กฎหมายไทยมีดังนี้

  • ธุรกิจที่เจ้าของกิจการดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว
  • ห้างหุ้นส่วนสามัญ
  • ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน
  • ห้างหุ้นส่วนจำกัด
  • บริษัทจำกัด
  • บริษัทมหาชน

รูปแบบธุรกิจที่เป็นที่นิยมคือ บริษัทจำกัด เนื่องจากความรับผิดของผู้ถือหุ้นในบริษัทมีเพียงจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังไม่ได้ชำระเท่านั้น

ขั้นตอนการดำเนินการในการจัดตั้งบริษัทจำกัด มีขั้นตอนดังนี้

  1. ผู้เริ่มก่อการจองชื่อบริษัท
  2. เมื่อได้รับอนุญาตให้ใช้ชื่อแล้ว ผู้เริ่มก่อการอย่างน้อย 3 คน เข้าชื่อกันจัดทำหนังสือบริคณห์สนธิ ผู้เริ่มก่อการจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
    2.1) เป็นบุคคลธรรมดา จะเป็นนิติบุคคลไม่ได้
    2.2) มีอายุตั้งแต่ 12 ปี ขึ้นไป
    2.3) จะต้องจองซื้อหุ้นอย่างน้อยคนละ 1 หุ้น
  3. ผู้เริ่มก่อการยื่นจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิต่อนายทะเบียนภายใน 30 วันนับแต่วันที่นายทะเบียนอนุญาตให้จองชื่อนิติบุคคล
  4. เมื่อได้จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิแล้ว ผู้เริ่มก่อการต้องจัดให้หุ้นของบริษัทที่จะตั้งขึ้นนั้นมีผู้เข้าชื่อจองซื้อหุ้นจนครบ
  5. ดำเนินการประชุมตั้งบริษัท โดยต้องส่งคำบอกกล่าวนัดประชุมให้ผู้จองทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน ก่อนวันประชุม
  6. เมื่อได้ประชุมตั้งบริษัท และที่ประชุมได้แต่งตั้งกรรมการบริษัทแล้ว กรรมการบริษัทเรียกให้ผู้เริ่มก่อการและผู้จองหุ้นชำระค่าหุ้นอย่างน้อยร้อยละ 25 ของมูลค่าหุ้น (ทุนของบริษัทจะแบ่งเป็นกี่หุ้นก็ได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่าหุ้นละ 5 บาท)
  7. เมื่อได้รับเงินค่าหุ้นแล้ว กรรมการต้องไปจดทะเบียนเป็นบริษัทภายใน 3 เดือน ภายหลังจากการประชุมตั้งบริษัท

ในการจัดตั้งบริษัท จะจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ และจดทะเบียนตั้งบริษัทไปพร้อมกันภายในวันเดียวก็ได้

**กรณีคนต่างด้าวลงทุนในบริษัทจำกัด ตั้งแต่ร้อยละ 40 แต่ไม่ถึงร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียน หรือกรณีมีคนต่างด้าวลงทุนในบริษัทจำกัดต่ำกว่าร้อยละ 40 ของทุนจดทะเบียนแต่คนต่างด้าวเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ให้ผู้ถือหุ้นที่มีสัญชาติไทยทุกคนส่งหลักฐานแสดงที่มาของเงินลงทุน ที่สอดคล้องกับจำนวนเงินที่ชำระแล้วของผู้ถือหุ้นแต่ละราย อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  1. สำเนาสมุดเงินฝากธนาคาร หรือสำเนาใบแจ้งยอดบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน หรือ
  2. เอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรอง หรือแสดงฐานะทางการเงินของผู้ถือหุ้น หรือ
  3. สำเนาหลักฐานที่แสดงแหล่งที่มาของเงินที่นำมาชำระค่าหุ้น

ค่าธรรมเนียม

  1. จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิทุกจำนวนเงินไม่เกิน 100,000 บาท แห่งจำนวนทุนที่กำหนดไว้ คิดค่าธรรมเนียม 50 บาท เศษของ 100,000 บาท ให้คิดเป็น 100,000 บาท ทั้งนี้รวมกันไม่ให้ต่ำกว่า 500 บาท และไม่ให้เกิน 25,000 บาท
  2. จดทะเบียนตั้งบริษัทคิดตามทุนจดทะเบียนแสนละ 500 บาท แต่ไม่น้อยกว่า 5,000 บาท และไม่เกิน 250,000 บาท (เศษของแสนคิดเป็นแสน)
  3. ค่าอากรแสตมป์ 400 บาท
  4. หนังสือรับรอง ฉบับละ 200 บาท
  5. ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน ฉบับละ 100 บาท
  6. รับรองสำเนาเอกสาร หน้าละ 50 บาท

การขอมีเลขและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ยังไม่เคยมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ให้ยื่นคำร้องขอมีเลขและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือวันที่เริ่มประกอบกิจการในประเทศไทยแล้ว แต่วันใดจะเป็นวันหลัง

การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

นิติบุคคลใดที่มีรายได้เกิน 1,800,000 บาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มิฉะนั้นจะต้องถูกประเมินภาษี ผู้ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว สามารถออกใบกำกับภาษี ให้กับลูกค้าได้

 

     
       
All right reserved, 2011